แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ ล้อแม็กซ์ เปิดเผยว่า
ข้อสรุปในการเจรจาครั้งนี้ จะทำให้รถยนต์หรูหราของญี่ปุ่นมีโอกาสในการเปิดตลาดมากขึ้นกว่าเดิม
และอาจสั่นคลอนตลาดค่ายรถยนต์ยุโรปได้
โดยค่ายรถชั้นนำอย่างเลกซัส รุ่นเครื่องยนต์ขนาดเกินกว่า 3,000 ซีซี.
มีโอกาสที่จะทำราคาและยอดขายมาเบียดกับบีเอ็มดับเบิลยู 735 หรือเบนซ์ เอส 350
ก็เป็นได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ได้วิเคราะห์ถึงการเปิดเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ว่า การเจรจาที่ผ่านมา
ข้อเสนอของทางญี่ปุ่นในการเปิดเสรีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์สำเร็จรูป
(Completely-Built-Up:CBU) ภายในเวลาอันรวดเร็วนั้น ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศ
ทั้งจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยในประเทศ
และจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ค่ายตะวันตกคือยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าไทยที่กำลังประสบปัญหาขาดดุลอยู่ในขณะนี้
เพราะการเปิดเสรีจะยิ่งทำให้มูลค่านำเข้าของไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่น
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทะลักเข้ามาของรถยนต์สำเร็จรูปจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อการบริโภคเท่านั้นมิได้ก่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ
อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
ขณะเดียวกัน
ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ๆทั้งจากยุโรปและสหรัฐมีการยื่นหนังสือที่ลงนามโดยผู้แทนของค่ายผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์จากยุโรปและสหรัฐในประเทศไทยรวม
8 บริษัท เสนอต่อรัฐบาลไทยไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุถึงผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่
3,000 ซีซีขึ้นไป(ซึ่งก็คือรถยนต์นั่งประเภทหรูหรา)จากประเทศญี่ปุ่นโดยทันที
และให้ยกเลิกภาษีภายในปี 2553
อันจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นการลงทุนจากค่ายรถใหญ่ๆจากยุโรปและสหรัฐ
ซึ่งปัจจุบันได้มีการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์นั่งประเภทหรูหราซึ่งส่วนใหญมีขนาดเครื่องยนต์ระหว่าง
2,500-3,000 ซีซี. ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
เพราะข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศต่างๆ
ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่เท่าเทียมกัน แต่ในที่สุด
ได้สรุปให้มีลดภาษีแบบขั้นบันได ลดจาก 80 % เป็น 60 % ภายใน 4 ปี
นอกจากนี้
ทางไทยยืนยันจะไม่การลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปในเวลานี้
ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ซึ่งจากอดีตจนปัจจุบันนอกเหนือจากรถยนต์กระบะขนาดหนึ่งตันซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์อยู่ที่ประมาณ
2,000-2,500 ซีซี.แล้ว
รถยนต์นั่งที่ผลิตได้ในประเทศเกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า
3,000 ซีซี. ทั้งนี้ในช่วง 6
เดือนแรกปีนี้ จากปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมด
517,829 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์นั่งจำนวน 131,881 คัน ดังนั้น
การเปิดเสรีรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี. จึงไม่มีความจำเป็นในขณะนี้เพราะจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ระบุต่อไปว่า การเจรจาได้ข้อสรุปว่าทางไทยจะเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์
โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาให้ลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2554 เพื่อให้ผู้ผลิตของไทยมีเวลาปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น
อันจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการแข่งขันในตลาดโลกตามเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย
อีกทั้งการลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีคุณภาพจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาใช้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ส่งออกก็จะเป็นการสนับสนุนเป้าหมายสู่การศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกไปตลาดโลกหรือดีทรอยต์แห่งเอเชียด้วย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตของคนไทย
ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
แต่ทั้งนี้คาดว่าภาครัฐน่าจะเข้ามาเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลในด้านวัตถุดิบทั้งยาง พลาสติก และเหล็ก ให้มีปริมาณ คุณภาพ
และต้นทุนที่เหมาะสม และที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรในประเทศ
ให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น